

สิวในวัยรุ่น: สิวในวัยรุ่นหมายถึง สิวในผู้ที่มีอายุไม่เกิน 25 ปี จากข้อมูลทางสถิติระบุว่าอุบัติการณ์สูงสุดของการเกิดสิวทั่วโลก พบในเด็กผู้หญิงอายุ 14 และ 17 ปี และ ในเด็กผู้ชายอายุ 16 และ 19 ปี 1
ปัจจัยที่ทำให้เกิดสิวในช่วงวัยรุ่นประกอบด้วย:
การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน
ในช่วงวัยรุ่น ร่างกายมีการหลั่งฮอร์โมนเพศที่เพิ่มขึ้นมากขึ้น ฮอร์โมนเหล่านี้กระตุ้นให้เกิดการเปลี่ยนแปลงองค์ประกอบของน้ำมัน (ซีบัม) รวมถึงปริมาณน้ำมันที่ผลิตโดยต่อมน้ำมันในผิวหนังซึ่งนำไปสู่วงจรการเกิดสิว นอกจากนี้การเปลี่ยนแปลงส่วนประกอบของน้ำมันที่หลั่งออกมาจากต่อมน้ำมันยังส่งผลให้แบคทีเรียบางชนิดเพิ่มจำนานมากกว่าปกติ ส่งผลให้ความหลากหลายของจุลินทรีย์ในผิวหนังตามธรรมชาติลดลง การเสียสมดุลจุลินทรีย์นี้ทำให้การอักเสบเล็กๆน้อยๆเกิดง่ายและนำไปสู่วงจรสิว2,3
ความกังวลและความเครียด
ความเครียดทางจิตใจและภาวะความกังวลสามารถส่งผลกระทบต่อผิวหนังผ่านระบบสองระบบ คือ ระบบประสาทส่วนกลาง และ ระบบต่อมไร้ท่อ (hypothalamic-pituitary-adrenal axis) เมื่อรู้สึกเครียด เซลล์ประสาทในสมอง (ไฮโปทาลามัส) จะหลั่งฮอร์โมนที่กระตุ้นการผลิตน้ำมัน (ซีบัม) ในต่อมไขมันที่ผิวหนัง และร่างกายก็สังเคราะห์สารเคมีที่เร่งการอักเสบบางชนิด (IL-6 และ IL-11 cytokines)4 ทั้งหมดนี้ทำให้ผิวเข้าสู่จุดเริ่มต้นของวงจรสิว
ผลิตภัณฑ์ดูแลผิวและเครื่องสำอางที่ระคายเคืองและรบกวนเกราะป้องกันผิว
การเปลี่ยนแปลงค่า pH ของผิวหนังเป็นสาเหตุหนึ่งของการเกิดสิว โดยปกติ pH ของผิวหนังคือ 5.5 สำหรับผู้ชาย และ 5.4 – 6.0 สำหรับเพศหญิง ส่วนผสมของเครื่องสำอางที่มีค่า pH เป็นกรดมากเกิน (ต่ำกว่า 4) หรือเป็นเบสเล็กน้อย (สูงกว่า 7) สามารถทำให้สิวขึ้นได้ง่าย โดยไปทำลายการทำงานของเกราะป้องกันผิว และไปเปลี่ยนแปลงปริมาณกลุ่มจุลินทรีย์ต่างๆบนผิวหนัง การทำความสะอาดผิวด้วยคลีนเซอร์ที่เพิ่ม pH บนผิวให้สูงขึ้น จะทำให้ผิวแห้งตึงและเกราะผิวบางลง ทำให้เกิดการอักเสบ ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของวงจรสิว5 ผลิตภัณฑ์ดูแลผิวที่เหมาะสมควรมีค่า pH ใกล้เคียงกับค่า pH ของผิวตามธรรมชาติ
ความเข้าใจใหม่เกี่ยวกับสิว ระบุว่าสิวเป็นโรคการอักเสบแบบหนึ่ง วงจรสิวเริ่มจากมีการอักเสบน้อยๆที่ผิว หรือต่อมไขมัน6,7 ดังนั้นเครื่องสำอางหรือผลิตภัณฑ์ดูแลผิวที่ทำลายเกราะผิวหรือทำให้ผิวระคายเคืองสามารถทำให้เกิดสิวได้
อาหาร
อาหารที่ส่งผลทำให้น้ำตาลในเลือดสูง (อาหารที่เพิ่มระดับน้ำตาลในเลือดได้ง่ายและรวดเร็ว เช่นน้ำตาลและแป้งขัดขาว) ไขมันอิ่มตัว และผลิตภัณฑ์จากนม ทำให้เกิดสิวโดยไปกระตุ้นการหลั่งของน้ำมันจากต่อมน้ำมันในผิวหนัง8 และเมื่อน้ำมันมากก็จะทำให้มีการล้างหน้าหรือซับบหน้าที่ไปรบกวนเกราะผิวทำให้สิวขึ้น วัยรุ่นมักมีความต้องการพลังงานมาก และอาจบริโภคอาหารประเภทนี้มากกว่าช่วงอายุอื่น จึงทำให้เกิดสิวง่ายขึ้นไปอีก

สิวในผู้ใหญ่: ถึงแม้ว่าสิวส่วนใหญ่จะเกิดในช่วงวัยรุ่น แต่ในหลายปีที่ผ่านมา สิวในผู้ใหญ่เพศหญิงเริ่มพบได้มากขึ้น9 สิวในผู้ใหญ่หมายถึง สิวที่เกิดขึ้นในผู้ที่มีอายุ 25-45 ปี แบ่งออกได้เป็น สิวถาวร สิวที่เริ่มเป็นใหม่ และ สิวที่กลับมาเป็นซ้ำ
สิวถาวรคือ สิวที่เกิดขึ้นตั้งแต่ในช่วงวัยรุ่นจนมาถึงวัยผู้ใหญ่
สิวที่เป็นเริ่มใหม่คือ สิวที่เป็นเป็นครั้งแรกในวัยผู้ใหญ่ ตอนวัยรุ่นไม่มีปัญหาสิว
สิวที่กลับมาเป็นซ้ำ คือสิวของคนที่เคยเป็นสิวตอนวัยรุ่น และหายไประยะหนึ่งแล้ว แต่กลับมาเป็นใหม่ในวัยผู้ใหญ่9,10
ผู้เชี่ยวชาญแนะนำว่าสิวในผู้หญิงช่วงอายุ 18 ถึง 24 ปี มีลักษณะคล้ายกับสิวในวัยรุ่นมากกว่าสิวในผู้ใหญ่ ดังนั้นจึงจัดให้สิวในวัยนี้เป็นกลุ่มสิวในวัยรุ่น10,11
สิวในผู้ใหญ่มักพบในส่วนครึ่งล่างของใบหน้า สิวที่เกิดก่อนการมีประจำเดือนมักพบได้บ่อยในสตรีสูงอายุ โดยเกิดจากปริมาณน้ำที่เพิ่มขึ้นที่เซลล์ตรงผนังรูขุมขนในสัปดาห์สุดท้ายของรอบประจำเดือน ผนังท่อที่บวมน้ำทำให้การระบายไขมันจากต่อมไขมันติดขัด
สิวถาวร และสิวแบบเกิดขึ้นใหม่ในผู้หญิงที่เป็นผู้ใหญ่ มักเกี่ยวข้องกับการอักเสบที่อยู่ค่อนข้างลึก (ก้อนสิวฝังลึกใต้ผิว)12
ผู้ใหญ่เพศหญิงมักมีความเครียดสูง และนอนน้อย มีความแปรปรวนและกดดันทางอารมณ์จากสภาพชีวิตประจำวัน ซึ่งสิ่งเหล่านี้ ทำให้มีการอักเสบต่างๆได้ง่าย และทำให้เกิดการเริ่มต้นของวงจรสิวได้13

สิวในวัยหมดประจำเดือน: สิวในวัยหมดประจำเดือนหมายถึง สิวในผู้หญิงที่ประจำเดือนหยุดไปแล้ว
กลไกที่ทำให้เกิดสิวในวัยหมดประจำเดือนยังไม่ชัดเจน อย่างไรก็ตาม ความไม่สมดุลของฮอร์โมนต่างๆถือเป็นปัจจัยหลัก ในช่วงวัยหมดประจำเดือน รังไข่ยังคงหลั่งฮอร์โมนแอนโดรเจนและเอสโตรเจนในปริมาณที่แตกต่างกัน14 การหลั่งของฮอร์โมนเอสโตรเจนจะลดลงอย่างรวดเร็วหลังวัยหมดประจำเดือน ในขณะที่แอนโดรเจนจะลดลงช้ากว่า15,16 ความไม่สมดุลระหว่างเอสโตรเจนและแอนโดรเจนนี้ อาจทำให้เกิดสิวได้17 นอกจากนี้ความเครียด การเปลี่ยนแปลงอาหาร การอดนอนและไม่ได้ออกกำลังกาย การเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์และการเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิต สามารถทำให้เกิดสิวได้เช่นกัน
เอกสารอ้างอิง
- Dréno, B. et. al., Nonprescription acne vulgaris treatments: Their role in our treatment armamentarium—An international panel discussion. Journal of Cosmetic Dermatology 2020, 19 (9), 2201-2211.
- Dréno, B.; Dagnelie, M. A.; Khammari, A.; Corvec, S., The Skin Microbiome: A New Actor in Inflammatory Acne. American Journal of Clinical Dermatology 2020.
- Kowalska, H.; Sysa-Jȩdrzejowska, A.; Woźniacka, A., Role of diet in the aetiopathogenesis of acne. Przeglad Dermatologiczny 2018, 105 (1), 51-62.
- Chen, Y.; Lyga, J. Brain-skin connection: stress, inflammation and skin aging. Inflamm Allergy Drug Targets 2014, 13, 177-190.
- Pluetrattanabha, N.; Kulthanan, K.; Nuchkull, P.; Varothai, S. The pH of skin cleansers for acne. Indian J Dermatol Venereol Leprol 2015, 81, 181-185.
- Dréno, B., What is new in the pathophysiology of acne, an overview. J Eur Acad Dermatol Venereol 2017, 31 Suppl 5, 8-12.
- Dreno, B.; Pecastaings, S.; Corvec, S.; Veraldi, S.; Khammari, A.; Roques, C., Cutibacterium acnes (Propionibacterium acnes) and acne vulgaris: a brief look at the latest updates. Journal of the European Academy of Dermatology and Venereology 2018, 32, 5-14.
- Melnik, B. C., Linking diet to acne metabolomics, inflammation, and comedogenesis: An update. Clinical, Cosmetic and Investigational Dermatology 2015, 8, 371-388.
- Rocha, M. A.; Bagatin, E., Adult-onset acne: prevalence, impact, and management challenges. Clin Cosmet Investig Dermatol 2018, 11, 59-69.
- Skroza, Nevena et al. “Adult Acne Versus Adolescent Acne: A Retrospective Study of 1,167 Patients.” The Journal of clinical and aesthetic dermatology vol. 11,1 (2018): 21-25.
- Zeichner J.A., Baldwin HE, Cook-Bolden FE, Eichenfield LF, Fallon-Friedlander S, Rodriguez DA. Emerging Issues in Adult Female Acne. J Clin Aesthet Dermatol. 2017;10(1):37-46.
- Bagatin, E.; Freitas, T. H. P.; Rivitti Machado, M. C.; Ribeiro, B. M.; Nunes, S.; Rocha, M. A. D., Adult female acne: A guide to clinical practice. Anais Brasileiros de Dermatologia 2019, 94 (1), 62-75.
- Dreno, B.; Bagatin, E.; Blume-Peytavi, U.; Rocha, M.; Gollnick, H., Female type of adult acne: Physiological and psychological considerations and management. JDDG: Journal der Deutschen Dermatologischen Gesellschaft 2018, 16 (10), 1185-1194.
- Fogle RH, Stanczyk FZ, Zhang X, Paulson RJ. Ovarian androgen production in postmenopausal women. J Clin Endocrinol Metab. 2007;92:3040–3043.
- Sluijmer AV, Heineman MJ, De Jong FH, Evers JL. Endocrine activity of the postmenopausal ovary: the effects of pituitary down-regulation and oophorectomy. J Clin Endocrinol Metab. 1995;80:2163–2167.
- Adashi EY. The climacteric ovary as a functional gonadotropin-driven androgen-producing gland. Fertil Steril. 1994;62:20–27.
- Markopoulos MC, Kassi E, Alexandraki KI, Mastorakos G, Kaltsas G. Hyperandrogenism after menopause. Eur J Endocrinol. 2015;172:R79–R91.
Sciences of Acne